เมื่ออายุมากขึ้น เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงความเสื่อมสภาพและถดถอยของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้งานได้อย่างปกติ อาจกระทบกับชีวิตประจำวันบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อการใช้งานในอวัยวะต่างๆเสื่อมถอยลงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะเรื้อรัง นำไปสู่การไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และติดเตียงในที่สุด ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด มีกำลังใจที่ดี สุขภาพจิตที่ดี เพื่อการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การดูแลในผู้ป่วยติดเตียง
· แผลกดทับ ผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการขาดเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณผิวหนังจากการกดทับ ควรเลือกใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เช่น เตียงลม เตียงเจล
· สภาพแวดล้อม ควรจัดห้องนอนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ง่ายในกรณีฉุกเฉิน หมั่นทำความสะอาดเตียงนอนและเครื่องนอนเป็นประจำ
· การรับประทานอาหาร ผู้ป่วยติดเตียงมักมีความเสี่ยงในการสำลักอาหาร ดังนั้นควรเลือกอาหารที่กลืนได้ง่าย ลดโอกาสในการติดเชื้อในปอด และควรปรับเตียงให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ทั้งระหว่างและหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
· การขับถ่าย ควรหมั่นตรวจเช็คและเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ผู้ป่วยอยู่เสมอหลังขับถ่ายหรือปัสสาวะ หากผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะ จะเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น ไม่ควรปล่อยถุงปัสสาวะให้โดนพื้น และหมั่นสังเกตสีของปัสสาวะ หากปัสสาวะเริ่มมีสีขุ่น หรือมีสีน้ำตาลหรือแดง หรือหากมีอาการปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพบแพทย์ทันที
· การออกกำลังกาย การขยับไปมาในผู้ป่วยติดเตียง จะสามารถป้องกันการยึดติดของข้อต่อ และเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
· สุขภาพจิต คนใกล้ชิด และ ผู้ดูแลควรหากิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความเครียดและสร้างเสริมกำลังใจให้กับผู้ป่วย